กระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อสุขภาพดีในทุกๆ ด้าน

17 มกราคม 2022/ทีมหมอและนักโภชนาการ healthy and me

กระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน


โรคเบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจของคนไข้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ตามมาได้อีก กระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากตัวคนไข้เอง แพทย์ผู้ดูแล และครอบครัวคนใกล้ชิดด้วย ซึ่งแนวทางการดูแลก็มีตั้งแต่การควบคุมน้ำตาลในเลือดด้วยการใช้ยา การลดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และลดน้ำหนัก ไปจนถึงการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

มาดูกันว่า กระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ที่ครอบคลุมสุขภาพทุกๆ ด้าน ทำได้อย่างไรบ้าง


การควบคุมอาหาร สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน


การควบคุมอาหาร เป็นแนวทางที่นอกจากจะช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรงแล้ว ยังช่วยในการลดน้ำหนัก ซึ่งส่งผลดีต่อการลดเบาหวานในระยะยาวด้วย โดยข้อแนะนำสำหรับการควบคุมอาหารในคนไข้เบาหวาน ได้แก่


  • ลดการกินคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารจำพวกข้าว แป้ง เส้น และน้ำตาล ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาจใช้วิธีหลีกเลี่ยงการกินของหวานระหว่างมื้อ และลดปริมาณข้าว/แป้งลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยกินปกติ 


  • เน้นกินอาหารที่มีโปรตีนและไฟเบอร์สูง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่ ผักใบเขียว ผลไม้น้ำตาลต่ำ ถั่ว และธัญพืช ซึ่งโปรตีนจะช่วยให้พลังงานที่เพียงพอทดแทนส่วนของคาร์โบไฮเดรต ส่วนไฟเบอร์ก็จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้ได้


  • ควรตรวจวัดน้ำตาลในเลือดก่อนกิน และหลังกินอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง พร้อมจดรายการสิ่งที่กินกับค่าน้ำตาลที่วัดได้ไว้ด้วย เพื่อดูว่าอาหารแต่ละชนิดส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดช้า-เร็ว และมาก-น้อยอย่างไรบ้าง 


  • คนไข้เบาหวานควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป เช่น ขนมหวาน น้ำหวาน และผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงมากๆ



การออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน


การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยในเรื่องการลดน้ำหนัก ลดไขมันสะสม ลดความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน และยังลดการดื้อต่ออินซูลินที่เป็นต้นเหตุของเบาหวานได้อีกด้วย โดยข้อแนะนำในการออกกำลังกายสำหรับคนไข้เบาหวาน ได้แก่


  • ออกกำลังให้ได้ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ หรือประมาณ 150 นาที/สัปดาห์ โดยเน้นการออกกำลังแบบคาร์ดิโอระดับเบา-ปานกลาง อย่างการวิ่ง ปั่นจักรยาน สลับกับเวทเทรนนิ่ง เพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญควบคู่ไปกับการสร้างกล้ามเนื้อ


  • คนที่ยังไม่คุ้นชินกับการออกกำลังกาย มีน้ำหนักตัวมาก หรือขยับตัวลำบาก อาจเริ่มจากการเพิ่มการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่น เดินให้เยอะขึ้น และขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ 



การตรวจติดตามและการรักษา


การตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือด และการรักษาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โดยข้อแนะนำของเรามีดังนี้


ให้ตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ


คนไข้เบาหวานมักมีระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นลงไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ อาหารที่กิน หรือยาที่ใช้ ซึ่งระดับน้ำตาลที่สูงหรือต่ำเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ คนเป็นเบาหวานจึงจำเป็นต้องตรวจวัดน้ำตาลปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอ โดยเวลาที่ควรตรวจเป็นประจำทุกวัน ได้แก่


  • หลังตื่นนอนทันที 


  • ก่อนกินอาหารทุกมื้อ


  • หลังกินอาหารแต่ละมื้อไปแล้ว ภายใน 1-2 ชั่วโมง


  • ก่อนเข้านอน


นอกจากนี้ เรายังสามารถตรวจวัดน้ำตาลในช่วงเวลาอื่นๆ ได้ตามที่ต้องการ เช่น เวลารู้สึกเหนื่อยเพลียกว่าปกติ หรือก่อนและหลังออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเวลาที่ระดับน้ำตาลอาจเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน



การจะดูว่าคนไข้สามารถควบคุมเบาหวานได้ดีหรือเปล่า อาจดูได้จากค่าน้ำตาลที่วัดได้ในช่วงต่างๆ ว่าอยู่ในระดับเป้าหมายหรือไม่ เช่น ระดับน้ำตาลขณะท้องว่าง (หลังตื่นนอนและก่อนมื้ออาหาร) ควรอยู่ที่ 80-130 mg/dL หลังกินอาหารภายใน 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรเกินกว่า 180 mg/dL และก่อนเข้านอน ควรอยู่ในช่วง 70-140 mg/dL เป็นต้น


เตรียมรับมือกับภาวะน้ำตาลต่ำ


บางครั้งคนไข้เบาหวานอาจเจอกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาอินซูลินมากเกินไป ร่วมกับการอดอาหารบางมื้อ หรือออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งการที่น้ำตาลตกลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ตาลาย มือสั่น ใจสั่น กระวนกระวาย หากปล่อยไว้ก็อาจถึงขั้นช็อกและหมดสติได้


สิ่งที่เราควรทำเมื่อคนไข้มีอาการอย่างที่ว่ามานี้ ได้แก่


  1. ให้ตรวจวัดน้ำตาลในเลือดทันที ว่ามีระดับต่ำกว่า 70 mg/dL หรือไม่
  2. หากพบว่าน้ำตาลต่ำ ให้คนไข้กินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 15 กรัม และดูดซึมได้เร็ว เช่น น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ, กลูโคสอัดเม็ด 4 เม็ด, ลูกอม 2-3 เม็ด, ขนมปัง 1 แผ่น, กล้วยหอม 1 ลูก หรือน้ำอัดลม ครึ่งแก้ว
  3. รอประมาณ 15 นาที ให้น้ำตาลถูกดูดซึม แล้ววัดน้ำตาลในเลือดซ้ำอีกครั้ง
  4. หากน้ำตาลในเลือดยังต่ำอยู่ ให้ทำซ้ำอีกครั้งจนกว่าระดับน้ำตาลจะกลับมาอยู่ในช่วงปกติ


ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง


รูปแบบและชนิดของยาที่ใช้ รวมถึงขนาดยาของคนไข้แต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งคนไข้เบาหวานควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่ายาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสมสภาพร่างกายของเรา เช่น ตรวจน้ำตาลด้วยตัวเองแล้วพบว่าค่าน้ำตาลต่ำเกินไปบ่อยครั้ง หรือใช้ยาเป็นประจำแล้วแต่น้ำตาลยังสูงอยู่ ก็อาจปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับยาใหม่ให้ตรงกับอาการได้ แต่ไม่ควรปรับยาหรือหยุดยาด้วยตัวเองเด็ดขาด


การดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ของผู้ป่วยเบาหวาน


นอกเหนือจากการควบคุมระดับน้ำตาลแล้ว กระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานยังต้องรวมไปถึงสุขภาพในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น


การดูแลดวงตา


คนไข้เบาหวานอาจมีปัญหาตาเป็นต้อ หรือจอตาเสื่อมเร็วกว่าวัย ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ ทางที่ดีจึงควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา เช่น มองเห็นไม่ชัด ตาพร่ามัว ก็ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที


การดูแลช่องปากและฟัน


คนเป็นเบาหวานมักมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการอักเสบติดเชื้อในช่องปาก คนไข้จึงต้องรักษาสุขภาพเหงือกและฟันเป็นพิเศษ ด้วยการแปรงฟันให้สะอาดทุกครั้งหลังมื้ออาหาร ใช้ไหมขัดตามซอกฟัน และไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน


การดูแลผิวหนัง


คนไข้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกิน ขยับตัวลำบาก หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง มักมีปัญหาของโรคผิวหนังตามมาด้วย เช่น เกิดการอับชื้นตามซอกรักแร้ ขาหนีบ จนเป็นเชื้อราบนผิวหนัง มีอาการผิวแห้ง อักเสบ หรือมีผื่นพุพองจากการเสียดสี จึงจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ คอยระวังไม่ให้ซอกผิวหนังอับชื้น และควรให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าที่สบาย ระบายอากาศได้ดี


การดูแลเท้า


ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในคนไข้เบาหวาน คือเส้นประสาทและหลอดเลือดเกิดการบาดเจ็บ ทำให้บริเวณปลายประสาทอย่างปลายมือและปลายเท้าขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ รวมทั้งอาการชาที่เกิดจากเส้นประสาทเสียหาย ก็อาจทำให้คนไข้ไปเตะหรือเหยียบโดนอะไรแล้วเกิดแผลโดยไม่รู้ตัว และบาดแผลที่เกิดขึ้นก็มักจะหายช้ากว่าปกติ จนหลายครั้งกลายเป็นการติดเชื้อลุกลามได้ด้วย คนไข้เบาหวานจึงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพเท้ามากกว่าคนทั่วไป โดย…


  • ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ให้สวมรองเท้าเพื่อปกป้องเท้าอยู่เสมอ แม้ขณะเดินในบ้าน เพื่อป้องกันการเดินเตะเดินชนจนเป็นแผล


  • เลือกรองเท้าที่นุ่ม สบาย ถ่ายเทอากาศ และมีขนาดพอดี หลีกเลี่ยงรองเท้าที่คับแน่นเกินไป


  • ตัดเล็บอย่างระมัดระวัง แล้วตะไบให้เรียบ ไม่ควรไว้เล็บยาว ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรตัดให้สั้นเกินไป


  • ล้างเท้าด้วยสบู่ทุกวัน และเช็ดเท้าให้แห้งสนิท ระวังอย่าให้ซอกนิ้วเท้าเกิดความอับชื้น


  • ออกกำลังกายด้วยการขยับขาและเท้าเป็นประจำ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงปลายเท้าได้ดีขึ้น



  • สำรวจบริเวณเท้าบ่อยๆ ว่ามีบาดแผล ตุ่มพุพอง หรือรอยแตกหรือไม่ ถ้ามีแผลแม้เพียงเล็กน้อยก็ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที



© สงวนลิขสิทธิ์ บริษัทเฮลตี้ แอนด์ มี จำกัด (เลขผู้เสียภาษี 0105559038520)